วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

7 จุดสุดเจ๋ง ที่นักปั่นไม่ไปไม่ได้!! คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

1. เส้นทางจักรยานย่านชุมชนเก่าสามแพร่ง

          สามแพร่ง หมายถึง "แพร่งสรรพศาสตร์" "แพร่งนรา" และ "แพร่งภูธร" หรือพื้นที่บริเวณระหว่างศาลเจ้าพ่อเสือกับกระทรวงมหาดไทย ที่มาของชื่อแพร่งทั้งสามนี้ก็มาจากชื่อเจ้านายสามพระองค์ที่มีวังอยู่ในบริเวณนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาสตรศุกกิจ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ย่านสามแพร่งมีถนนเล็ก ๆ เชื่อมต่อกัน มีมนตร์เสน่ห์ของบ้านเก่าที่ยังสวยงามและมีของกินอร่อย ๆ มากมายตามเส้นทางปั่นจักรยาน

          เส้นทางปั่นจักรยาน : เริ่มต้นที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตัดเข้าถนนมหรรณพ ทะลุเจอศาลเจ้าพ่อเสือ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนตะนาว ลัดเลาะเข้าสู่ถนนเล็กทั้งสามแพร่งทางฝั่งขวามือ ทะลุข้ามคลองหลอดไปยังกระทรวงกลาโหมจบที่มิวเซียมสยาม

          ระยะทาง : ประมาณ 3 กิโลเมตร
คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

          สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งที่น่าสนใจ : ศาลเจ้าพ่อเสือ หรือตั่วเหล่าเอี้ยเป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้ รูปเจ้าพ่อเสือ รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม, ตึกเก่าในย่านสามแพร่ง คงไว้ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกเก่าแก่ที่มีความสวยงาม, ซุ้มประตูวังเก่าที่แพร่งสรรพศาสตร์ เป็นซุ้มประตูที่หลงเหลืออยู่ของวังสรรพสาตรศุภกิจ วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ก่อสร้างตามแบบศิลปะยุโรป, โรงละครปรีดาลัยในแพร่งนรา เป็นโรงละครร้องแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในวังวรวรรณ วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ปัจจุบันเหลือเพียงอาคารตึกผสมไม้สองชั้น ประดับลวดลายฉลุไม้สวยงาม, สุขุมาลอนามัยที่แพร่งภูธร เป็นสถานีกาชาดแห่งที่ 2 และเป็นสถานีอนามัยแห่งแรกของกรุงเทพฯ และมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่เน้นจุดมุ่งหมายในการแสดงตัวตนของชนในชาติให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้รากเหง้าของชาวไทย โดยเน้นไปที่กลุ่มชนในกรุงเทพฯ เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น.

          ข้อควรระวัง : ในย่านนี้เป็นชุมชนที่ค่อนข้างคับแคบ ผู้คนขวักไขว่มากมายควรปั่นจักรยานอย่างระมัดระวัง



คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

2. เส้นทางจักรยานเลียบเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี

          กรุงเทพมหานครจัดทำเส้นทางจักรยานเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งธนบุรีขึ้น โดยเส้นทางจักรยานนี้ผ่านชุนชนกุฎีจีน เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีในอดีตเคยเป็นที่อาศัยของชาวไทย จีน โปรตุเกส ที่แตกสลายจากสงครามกรุงศรีอยุธยา ที่นี่จึงกลายเป็นชุมชนที่ผสมผสานวัฒนธรรมและความเชื่อหลากหลาย โดยมีคนอยู่ร่วมกันถึง 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม

          เส้นทางปั่นจักรยาน : เริ่มต้นที่บริเวณใต้สะพานพุทธในฝั่งธนบุรี ปั่นบนเส้นทางจักรยานเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านโบสถ์ซางตาครู้ส ศาลเจ้าแม่กวนอิม ทะลุออกมาถนนอรุณอมรินทร์ที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เลี้ยวขวาไปยังวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

          ระยะทาง :  ประมาณ 2 กิโลเมตร
คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

          สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งที่น่าสนใจ : โบสถ์ซางตาครู้ส เป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รูปแบบการก่อสร้างได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบเรเนซองส์และนีโอคลาสสิกสวยงามทั้งภายนอกและภายใน, ศาลเจ้าเกียนอันกง (ศาลเจ้าแม่กวนอิม) ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2551 ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอารามจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เต็มไปด้วยผลงานศิลปะอันวิจิตรบรรจงจากฝีมือช่างในอดีต

          วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสร้างให้อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับวัดพนัญเชิง และมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ คือ "หลวงพ่อโต" หรือ "ซำปอกง", มัสยิดบางหลวงหรือกุฎีขาวสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มีการออกแบบเป็นอาคารทรงไทย ซึ่งถือเป็นแห่งเดียวในโลก และวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหารหรือวัดแจ้ง เป็นวัดที่สวยโดดเด่นเริมน้ำเจ้าพระยา มีพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย

          ข้อควรระวัง : เส้นทางปั่นจักรยานเส้นนี้เป็นเส้นทางเล็ก แคบ และต้องใช้ร่วมกับคนเดิน จึงควรปั่นด้วยความระมัดระวัง



คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

3. เส้นทางจักรยานชมมรดกโลก พระนครศรีอยุธยา

          ตลอด 417 ปี แห่งการเป็นราชธานีของไทย อยุธยาได้สั่งสมความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของชนชาติไทยไว้มากมาย จนองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง แบ่งพื้นที่เป็น 7 เขต คือ

          1. อุทยานประวัติศาสตร์ มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วิหารพระมงคลบพิตร

          2. พื้นที่ในเกาะเมืองนอกเขตอุทยานฯ มีโบราณสถานสำคัญ คือ พระราชวังจันทรเกษม

          3. พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านตะวันออก มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดพนัญเชิง วัดใหญ่ชัยมงคล

          4. พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านตะวันตก มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดไชยวัฒนาราม วัดวรเชษฐาราม

          5. พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านเหนือ มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดภูเขาทอง วัดหน้าพระเมรุ

          6. พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านใต้ มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดพุทไธสวรรย์

          7. พื้นที่นอกเหนือจากที่ระบุแล้วในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          เส้นทางปั่นจักรยาน : เริ่มที่บริเวณบึงพระราม ปั่นไปวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ ย้อนกลับมาที่วิหารพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ ข้ามคลองไปยังวัดโลกยสุธาราม ออกไปยังถนนอู่ทองเลียบแม่น้ำไปยังวัดไชยวัฒนารามลัดเลาะไปจบที่วัดนักบุญยอแซฟ

          ระยะทาง :  ประมาณ 9 กิโลเมตร
คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

          สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งที่น่าสนใจ : วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมธาตุใจกลางพระนครสิ่งที่น่าสนใจพิเศษ คือ เศียรพระพุทธรูปในต้นไม้, วัดราชบูรณะ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา, วิหารพระมงคลบพิตร เป็นที่ประดิษฐานพระมงคลบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และลงรักปิดทอง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เพราะมีลักษณะศิลปะอู่ทองผสมกับศิลปะสุโขทัย, วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังโบราณ เป็นวัดพุทธาวาสที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา

          วัดโลกยสุธราราม เป็นวัดที่ประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ที่สุดของอยุธยา, วัดไชยวัฒนาราม สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง วัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยขณะต่อเขมร โดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด และวัดนักบุญยอแซฟ เป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์ที่สวยงาม สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เริ่มแรกเป็นอาคารไม้ และได้มาบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นรูปแบบโรมัน

          ข้อควรระวัง :  เส้นทางปั่นจักรยานนี้ปั่นบนถนนที่ใช้รวมกับรถหลากหลายชนิด ควรปั่นอย่างระมัดระวังและชิดชอบถนนเสมอ



คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

4. เส้นทางจักรยานชมมรดกโลก เมืองสุโขทัย

          สุโขทัยเป็นดินแดนแห่งความทรงจำถึงอดีตกาลแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย อาณาจักรสุโขทัยถือเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย มากด้วยความเจริญรุ่งเรืองในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการเมืองการปกครอง ทางด้านการศึกษา ที่เริ่มมีการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยและกำเนิดวรรณคดีเล่นแรก ไตรภูมิพระร่วง และที่สำคัญความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา ซึ่งยังปรากฏหลักฐานด้วยสิ่งปลูกสร้างอย่างวัดวาอารามจำนวนมาก ที่กระจายตัวอยู่โดยรอบเขตเมืองเก่า และองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีโบราณสถานกว่า 200 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 5 พื้นที่ คือ

          1. โบราณสถานกลางเมือง มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดมหาธาตุ วัดศรีสวาย วัดสระศรี วัดตระพังเงิน วัดสรศักดิ์

          2. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดพระพายหลวง วัดศรีชุม

          3. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออก มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดตระพังทองหลาง วัดเจดีย์สูง วัดช้างล้อม

          4. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดเซตุพน วัดเจดีย์สี่ห้อง

          5. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตก มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดสะพานหิน

          เส้นทางปั่นจักรยาน : เริ่มต้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุโขทัย เข้าไปปั่นโดยรอบกลุ่มโบราณสถานกลางเมือง ปั่นออกถนนใหญ่ไปยังวัดศรีชุม วัดพระพายหลวง ปั่นกลับมายังจุดเริ่มต้นโดยผ่านวัดสรศักดิ์

          ระยะทาง :  ประมาณ 10 กิโลเมตร
คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

          สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งที่น่าสนใจ : วัดมหาธาตุ วัดสำคัญที่สุดตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัย มีกำแพงและคูน้ำล้อรอบ เจดีย์ประธานเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ด้านข้างเป็นมณฑปประดิษฐานพระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืน ด้านหน้าเป็นวิหารหลวง ด้านหน้าวิหารหลวงเป็นวิหารสูงที่สร้างในสมัยอยุธยารวมทั้งพระพุทธรูปก็เป็นศิลปะในสมัยอยุธยาด้วยเช่นกัน, วัดศรีสวาย มีพระปรางค์ 3 องค์ รูปแบบศิลปะลพบุรี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอม สันนิษฐานว่าเดิมอาจเคยเป็นเทวสถานทางศาสนาพราหมณ์ฮินดู แล้วแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาในภายหลัง, วัดสระศรี ตั้งอยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ ชื่อตระพัง ตระกวน เจดีย์ประธานทรงระฆังหรือทรงลังกา

          วัดศรีชุม ประดิษฐานพระอจนะพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ในมณฑปที่ไม่มีหลังคา ผนังของมณฑปมีช่องให้คนเข้าไปภายในและเดินไปถึงผนังด้านข้างขององค์พระได้ จนเกิดมีตำนานพระพูดได้ และวัดพระพายหลวง เป็นศาสนสถานแบบเขมร สันนิษฐานว่าสร้างก่อนสถาปนากรุงสุโขทัย ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพราะศิลปะเป็นแบบเขมรบายน นับว่าเก่าแก่ที่สุด มีพระปราง 3 องค์ แต่เหลือสมบูรณ์เพียงองค์เดียว อีกด้านมีมณฑปประดิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัยตอนปลาย

          ข้อควรระวัง : เส้นทางปั่นจักยานนี้บางช่วงปั่นบนถนนใหญ่ ควรปั่นอย่างระมัดระวังและชิดขอบถนนเสมอ



คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

5. เส้นทางจักรยานซมสวน วิถีอัมพวา

          อัมพวาตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีคลองอัมพวาและลำคลองอีกหลายสายซึ่งแยกมาจากแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านพื้นที่ชุมชน จากการที่มีลำคลองไหลผ่านชุมชนหลายสาย จึงทำให้เป็นศูนย์กลางการคนนาคมทางน้ำที่สำคัญของจังหวัด ก่อเกิดชุมชนริมน้ำร่วมถึงยังเอื้อประโยชน์ต่อการทำเกษตรกรรมของชุมชนชาวสวนอีกด้วย

          เส้นทางปั่นจักรยาน : เริ่มต้นที่วัดอัมพวันเจติยารามปั่นไปชมโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ แล้วปั่นไปยังอาสนวิหารแม่พระบังเกิด ข้ามฝั่งแม่น้ำไปวัดบางกุ้ง วัดบางแค่น้อย เลาะเลียบแม่น้ำ ข้ามกลับมายังจุดเริ่มต้น

          ระยะทาง : ประมาณ 20 กิโลเมตร
คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

          สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งที่น่าสนใจ : วัดอัมพวันเจติยาราม หลังวัดแห่งนี้เคยเป็นนิวาสสถานเก่าของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 และเป็นสถานที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 2 พระอุโบสถเป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น, โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ เป็นโครงการที่มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนอัมพวา เพื่อสืบสานภูมิปัญญาชาวบ้านและอนุรักษ์วิถีการดำเนินชีวิตของชาวอัมพวา มีสวนสาธิต การเกษตร การทำน้ำตาลมะพร้าว

          อาสนวิหารแม่พระบังเกิด โบสถ์สถาปัตยกรรมแบบกอธิคของประเทศฝรั่งเศส ภายในประดับด้วยภาพกระจกสีสวยงดงาม, วัดบางกุ้ง มีความมหัศจรรย์อยู่ที่โบสถ์ของวัดถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งใน Unseen Thailand, วัดบางแคน้อย ผนังภายในพระอุโบสถทำจากไม้สักแกะสลักเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ ลวดลายสวยงามชัดเจน และตลาดน้ำอัมพวา เป็นตลาดน้ำยามเย็น มีเฉพาะในวันศุกร์-อาทิตย์ สามารถพบเห็นวิถีชีวิตชาวสวนของชาวอัมพวาได้ตลอดเส้นทางการปั่นบนทางหลวงหมายเลข 4013

          ข้อควรระวัง :  เส้นทางปั่นจักรยานนี้ปั่นบนถนนใหญ่ ควรปั่นอย่างระมัดระวังและชิดขอบถนนเสมอ



คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

6. เส้นทางจักรยานชมธรรมชาติสวนผึ้ง

          สวนผึ้ง อำเภอหนึ่งของจังหวัดราชบุรี มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ ภูเขา และน้ำตก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงโอบล้อมด้วยขุนเขาติดชายแดน จึงมีสภาพอากาศที่เย็นสบายคล้ายกับภาคเหนือ เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่แสนจะน่ารักบรรยากาศโรแมนติก ในดินแดนขุนเขา สายหมอกตรอกธาร และทุ่งหญ้า

          เส้นทางปั่นจักรยาน : เริ่มที่บ้านหอมเทียน เลี้ยวซ้ายไปทางที่ว่าการอำเภอฯ เลี้ยวซ้ายไปทางโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา (ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอฯ) วนเป็นวงกลมเข้าทางหลวงชนบท รบ 4019 แล้วกลับเข้าทางหลวงหมายเลข 3087 ไปยังบ้านหอมเทียน

          ระยะทาง :  ประมาณ 50 กิโลเมตร
คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

          สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งที่น่าสนใจ : บ้านหอมเทียน ร้านขายเทียนหอมทำมือ ร้านอาหาร และขายของที่ระลึก มากมายทั้งเทียนหอมหลากสีสันและมุมถ่ายรูปเก๋ ๆ, ศูนย์บริการท่องเที่ยว I Love สวนผึ้ง ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวของกลุ่มผู้ประกอบการที่รวมกลุ่มกันในนาม I Love สวนผึ้ง, โบสถ์แม่พระฟาติมา เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่สวยงามมีลักษณะสถาปัตยกรรมการก่อสร้างแบบนีโอโกธิค, ต้นผึ้งร้อยปี ต้นไม้สัญลักษณ์ของอำเภอสวนผึ้งที่ปัจจุบันพบเห็นได้น้อยมาก, ไร่องุ่นปัญญาสวรรค์ ไร่องุ่นในวงล้อมภูเขา เปิดให้ได้เข้ามาชมสวนองุ่น วิธีการปลูกองุ่น การเก็บผลิตผลจากไร่องุ่น

          สวนผึ้งออร์คิด สวนกล้วยไม้ที่มีกล้วยไม้สวยงามหลากหลายพันธุ์เปิดให้เข้าชม ถ่ายรูป และซื้อกลับบ้านได้, ตลาดน้ำ Veneto ตลาดน้ำที่จำลองบรรยากาศอันแสนโรแมนติกของเมืองในแคว้น Veneto ประเทศอิตาลี ตกแต่งผสมผสานทั้งแนวอิตาลีแบบเวนิส แนวกรีซแบบซานโตรินี โดดเด่นด้วยตัวอาคารสีขาวตัดกับสีน้ำเงินสดใส และ New Land เป็นสถนที่ที่มีกิจกรรมมากมายให้ได้เพลิดเพลินสนุกสนาน ทั้งนั่งรถไฟชมทุ่งดอกไม้ให้อาหารแกะ ขี่เอทีวี

          ข้อควรระวัง :  เส้นทางนี้ระยะทางค่อนข้างไกลมีจุดที่ต้องไต่ขึ้นเนิน ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม



7. เส้นทางจักรยานชมทะเลปราณบุรี เลยไปหาดสามร้อยยอด

          ปราณบุรีมีแนวชายหาดที่สวยงามไม่แพ้พื้นที่ใด ๆ ในประจวบคีรีขันธ์ และยังสงบเงียบ เหมาะแก่การพักผ่อน ชายหาดทั้ง 3 แห่งของปราณบุรี คือ หาดปราณบุรี หาดนเรศวร และหาดเขากะโหลก ยาวต่อเนื่องจนดูเหมือนเป็นหาดเดียวกัน มีบรรยากาศเงียบสงบไม่แตกต่างกัน จุดเด่นของทั้ง 3 หาด ก็คือ ความเงียบสงบเป็นส่วนตัว และมากมายด้วยรีสอร์ทที่พักที่มีสไตล์เฉพาะตัว

          เส้นทางปั่นจักรยาน : เริ่มต้นที่หาดปราณบุรี ถัดจากชุมชนปากน้ำปราณ เลียบชายหาดปราณบุรี หาดนเรศวร หาดเขากะโหลก ตัดออกถนนด้านนอกไปเข้าสู่หาดสามร้อยยอด

          ระยะทาง :  ประมาณ 15 กิโลเมตร
คู่มือเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (อ.ส.ท.)

          สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งที่น่าสนใจ : หาดปราณบุรี ด้วยความยาวประมาณ 7 กิโลเมตร ของหาดทรายที่ยังคงสภาพธรรมชาติอย่างสมบูรณ์มีถนนลาดยางเลียบริมหาด บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะกับการพักผ่อนอย่างเป็นส่วนตัว, หาดนเรศวร หาดงามที่อยู่ถัดจากหาดปราณบุรี บรรยากาศไม่แตกต่างกันมากนัก เงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน ทรายที่นี่เป็นสีน้ำตาลอ่อนไม่ขาวเหมือนที่หัวหิน ทอดยาวไปจนจรดเขากะโหลก, หาดเขากะโหลก ถัดลงมาจากหาดนเรศวร เลยเขากะโหลกลงมาช่วงต้นของหาดเป็นที่จอดหลบลมของเรือประมงขนาดเล็ก มีถนนเลียบชายหาดไปตลอดแนวหาด และหาดสามร้อยยอด หาดทรายที่นี่มีความร่มรื่น เพราะมีทิวสนไปตลอดหาด ยามน้ำลงจะเห็นเป็นหาดทรายกว้าง เป็นหาดที่อยู่ร่วมกันระหว่างนักท่องเที่ยวและชาวบ้านท้องถิ่น แต่ก็ดูสงบเงียบ

          ข้อควรระวัง :  เส้นทางปั่นจักรยานนี้ปั่นบนถนนใหญ่ ถึงแม้รถจะไม่พลุกพล่านแต่ก็ควรปั่นอย่างระมัดระวังและชิดขอบถนนเสมอ

วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เส้นทางจักรยานบึงมะขามเทศ-บึงสะแกงามสามเดือน

ทำไมต้อง 3 เดือน? มันคือชื่อเต็มๆของบึง "บึงสะแกงาม 3 เดือน" เส้นทางจักรยานที่กทม.สร้างขึ้น วนรอบ 2 บึงที่อยู่ติดกัน (จริงๆมีบึงนายพลอยู่อีกบึง ตรงจุดชมวิว แต่นายพลยังไม่ได้บริจาคที่ให้กทม.^^) ระยะทางรวม 4.3 ก.ม.ต่อ 1 รอบ อาจจะสั้นไปหน่อย แต่วนสัก 4-5 รอบก็เหนื่อยเอาการเหมือนกัน 

ทางเข้าอยู่ที่ ซอยประชาร่วมใจ 47 คนแถวนี้เรียกถนนเส้นนี้ว่าคู้ซ้าย (แผนที่ https://goo.gl/maps/H6X4T) ถ้ามาจากแฟชั่นไอส์แลนด์ ก็ใช้ถนนรามอินทรามุ่งหน้ามีนบุรี ถึง 4 แยกมีนบุรีเลี้ยวซ้าย ผ่านบิ๊กซี(ซ้ายมือ)ถึง 3 แยกตรงไป ข้ามสะพานหน้าโลตัส(ขวามือ) ชิดซ้าย ผ่านปั๊มปตท.(ซ้ายมือ) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนนิมิตรใหม่ ประมาณ 100 เมตร แล้วชิดขวากลับรถ ประมาณ 50 เมตรชิดซ้ายเข้าถนนประชาร่วมใจ ตรงไปจนถึงซอย 47 (ซ้ายมือ) ถ้ามากับรถยนต์ก็ขับรถเข้าไปจอดหน้าบึงได้เลย

บึงนี้เป็นพื้นที่เปิด รถยนต์เข้าได้ เพราะเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้ไปยังนาของเขา แต่ไม่ใช่ทางผ่านไปไหน รถเลยไม่เยอะ นานๆจะมาคันนึง อาจจะมีคนมาเล่นเรือยนต์ในบึง หรือเด็กๆลงเล่นน้ำ มีควายเข้ามากินหญ้า นกกระยาง นกปากห่าง เพียบ ต่างกับสุวรรณภูมิตรงนี้

ที่นี่เหมาะกับเสือภูเขามากกว่า เพราะถนนขรุขระกว่าสนามเขียวสุวรรณภูมิเสียอีก มีเนินให้เสือภูเขากับ BMX ได้กระโดดเล่นด้วย แต่ยังไม่เสร็จดี กทม.เอาจักรยานปันปั่นมาให้ยืมปั่นด้วย พร้อมรถสุขาเคลื่อนที่

ใครปั่นครบรอบแล้วไม่อยากกลับทางเดิม อยากปั่นชมทุ่งหนองจอกต่อ ก็มีทางลัดไปออกถนนวัดสุขใจได้ อยู่ตรงช่วงครึ่งรอบพอดี ตรงที่เป็นประตูน้ำ มีห้องน้ำฉุกเฉินตั้งอยู่ 2 ตู้ มีรถจอด ตรงนั้นล่ะ ออกไปได้ เป็นทางดินริมคลอง ค่อนข้างวิบากนิดหน่อย แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับเสือภูเขา มีชาวบ้านมาตกปลาริมคลองตลอดเส้น ทางดินประมาณ 1 ก.ม.ก็จะถึงทางลาดยางเส้นวัดสุขใจ เลี้ยวขวา ไปทางแบนชะโด ไปออกเส้นร้านสู้แค่หมดได้ (แผนที่ https://goo.gl/maps/vRzjB ทางออกจากบึงผิดนิดหน่อยเพราะเป็นทางดิน google ไม่รู้จัก ออกตรงเลียบลำรางแตงโม) ก็สามารถวนกลับไปทางถนนนิมิตรใหม่ได้

หรือถ้ากลับออกมาทางปากซอยประชาร่วมใจ 47 เลี้ยวซ้ายตรงไปถึงแยกที่มีป้อมตำรวจ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนคู้คลองสิบ ตรงไป 500 เมตร ก็จะถึงปลายนาคาเฟ่(ซ้ายมือ) ระยะทางจากบึงประมาณ 5 ก.ม. (แผนที่ https://goo.gl/maps/1GUVQ)

เส้นทางรอบบึงนี้ไม่ใช่ทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ แต่อนุญาตให้ปั่นทำความเร็วได้ ก็ต้องใช้วิจารณญานเอาเองว่าช่วงไหนควรเร็ว ช่วงไหนควรช้า เพราะว่าเด็กๆเข้ามาปั่นเล่นกับครอบครัวเยอะเหมือนกัน