วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทัวริ่งมือใหม่ ขึ้นรถไฟไปปั่นชมทุ่งทานตะวัน-เขื่อนป่าสัก-อุโมงค์ต้นไม้-น้ำตกเจ็ดสาวน้อย (86 ก.ม.)

ทริปนี้จะแบกจักรยานขึ้นรถไฟแล้วไปปั่นเที่ยวกัน ปั่นไม่ไกลมากนัก เราเน้นเที่ยวมากกว่าระยะทาง ถนนเรียบ วิวสวยงาม รถน้อย ปั่นสบายๆความเร็วประมาณ 20 ก.ม./ช.ม. จักรยานทุกชนิดไปได้ จำเป็นต้องพึ่งรถไฟ ขบวนรถเร็ว เพราะมีตู้สัมภาระ

แผ่นที่เส้นทาง
https://goo.gl/maps/quJtZ
สองวันระยะทางรวม 86 ก.ม. ปั่นเรื่อยๆไม่ต้องรีบ สบายๆ (ถ้ารวมปั่นวนเล่นแถวๆเขื่อนด้วยก็จะได้ประมาณ 120 ก.ม.)

วันแรก
6.15 น. พร้อมกันที่หัวลำโพง (หรือดักขึ้นรถไฟสถานีไหนก็ได้ที่รถจอด เช่น บางซื่อ, รังสิต) ซื้อตั๋วสำหรับคนก่อนคนละ 60 บาท แล้วเข็นจักรยานไปจุดรับสัมภาระ คันละ 90 บาท แล้วไปรอยกจักรยานขึ้นตู้สัมภาระ (อ่านคำแนะนำในการขนจักรยานขึ้นรถไฟ)
6.40 น. ออกเดินทางด้วยรถเร็วขบวน 135 ออกจากหัวลำโพง 6.40 น. ถึงชุมทางแก่งคอย 9.22 น. (ออกตรงเวลาแต่ถึงช้ากว่ากำหนดนิดหน่อย) เตรียมตัวก่อนถึงที่หมายไปอยู่ใกล้ๆตู้สัมภาระ เพราะรถไฟจอดแป๊บเดียว ยกลงมาแล้วก็ตรวจเช็คจักรยานให้เรียบร้อยพร้อมปั่น มีอะไรหล่นหายหรือเปล่า
9.45 น. ชุมทางแก่งคอย - ทุ่งทานตะวัน ท่าคล้อ 11 ก.ม. ปั่นออกมาตรงๆจากหน้าสถานีรถไฟข้ามสะพาน เลี้ยวขวาแล้วปั่นตรงตามถนนหลักเรื่อยๆ(ผ่านทางรถไฟสายที่ไปเขื่อนป่าสักเป็นระยะๆ) เนื่องจากปีนี้ท่าคล้อยังไม่เริ่มปลูกทานตะวันเลยมีแต่ทุ่งข้าวโพดให้ดู เลี้ยวซ้ายหน้าวัดท่าศาลา (อย่าไปตามป้ายที่ชี้ไปเขื่อนป่าสัก เพราะป้ายพาไปทางอ.วังม่วง ขากลับของเรา) แล้วก็ตรงไปเรื่อยๆ
นี่คือทุ่งปอเทือง เพิ่งเคยเห็นเหมือนกัน สวยดี ดอกเล็กๆสีเหลือ ต้นเหมือนเอากิ่งไม้ไปปักลงดิน เขาบอกว่าเป็นพืชปรับปรุงดิน
11.00 น. ทุ่งทานตะวันท่าคล้อ - ทุ่งทานตะวัน หินซ้อน 11 ก.ม. เลยโรงงานที่เป็นโดม(หน้าโรงงานมีร้านอาหารตามสั่ง ถ้าหิวก็หาอะไรกินก่อน)ตรงไปนิดนึงจะเห็นทุ่งทานตะวันอยู่ทางขวามือ กว้างใหญ่มาก มีรถไฟแล่นผ่านด้านหลังด้วย (ททท.มีจัดทริปนั่งรถไฟชมด้วย ขบวนเดียวกับที่เรามานี่แหละ แต่นั่งรถไฟตลอดทริป ไม่ต้องปั่นจักรยาน เริ่ม 14 ธ.ค.)
ทุ่งทานตะวันนี้ไม่มีคนเฝ้า เข้าไปชมได้ฟรี^^

12.00 น. ทุ่งทานตะวัน - เขื่อนป่าสัก 21 ก.ม. มุ่งขึ้นเหนือตามแผนที่ไป สองข้างทางจะเห็นทุ่งทานตะวันเป็นระยะๆ ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ต้นใหญ่ๆ เลี้ยวขวาที่สี่แยกเข้าถนนหลักไปเขื่อน พอใกล้เขื่อนป่าสักจะเห็น 2 ทุ่งที่มีการออกร้านขายของด้านหน้า และเก็บค่าเข้าไปถ่ายรูป 10 บาท
13.30 น. กางเต๊นท์นอนเขื่อนป่าสัก 1 คืน มาถึงเขื่อนปั๊บให้รีบไปจองจุดกางเต๊นท์ทันดี เพราะช่วงหนาวๆคนเยอะมาก กางเต๊นท์ติดกันเรียงยาวตลอดแนว มาช้าก็อดได้ที่ริมน้ำ ต้องกางบนสนามหญ้าเอา จุดกางเต๊นท์หาไม่ยาก มีป้ายบอก อยู่ที่เขื่อนไม่ต้องกลัวอดตาย เพราะมีของขาย คืนวันเสาร์มีตลาดนัดถนนคนเดิน ขายถึง 4 ทุ่ม ด้านหน้าเขื่อนก็มีร้านอาหารเพียบ Lotus Express ก็มี เพราะฉะนั้นไม่ต้องพกอาหารมาให้หนัก
16.00 น. กางเต๊นท์เสร็จปลดสัมภาระให้รถเบาๆแล้วปั่นเล่นบนสันเขื่อนกัน ข้ามไปไหว้พระสีขาวบนดอกบัวชมพูองค์ใหญ่ที่อีกฝั่งหนึ่งของเขื่อน สันเขื่อนยาวประมาณ 5 ก.ม. ปกติบนสันเขื่อนเขาจะไม่ให้รถยนต์วิ่ง(เพราะเขาจะให้นักท่องเที่ยวนั่งรถบริการของเขื่อน) แต่จักรยานปั่นเข้าไปได้เลย ถ้ามาปั่นฝั่งด้านหน้าเขื่อนเลี้ยวไปด้านขวามือผ่านวัด(หมาดุ)ไปสุดทาง จะมีจุดที่เห็นรถไฟวิ่งผ่านน้ำ ถ้ามาตรงช่วงตารางเวลารถไฟนะ

วันที่ 2
7.00 น. ตื่นมาปั่นเล่นรอบเขื่อนอีกรอบ คราวนี้ด้านล่างของเขื่อน ออกมาที่สี่แยกโลตัสเลี้ยวซ้ายผ่านโลตัสไปจนเห็นป้ายสถานีรถไฟแก่งเสือเต้น มีถนนลูกรังหลังสถานีกลับไปที่เขื่อน หาอะไรกิน ก่อนจะเก็บของเตรียวตัวออกเดินทาง ผ่านสันเขื่อนไปออกประตูอีกฝั่งของเขื่อน
9.00 น. เขื่อนป่าสัก - ทุ่งทานตะวัน วังม่วง 10 ก.ม. ปั่นมุ่งหน้าอ.วังม่วง จะเห็นทุ่งทานตะวันใหญ่ๆ สวยๆ 3 ทุ่งทางขวามือ (มีออกร้าน เก็บค่าเข้าชม 5 บาท) ทุ่งแรกวิวสวยสุด อีก 2 ทุ่งจะอยู่หน้าโรงงานโออิชิ
10.00 น. ทุ่งทานตะวัน วังม่วง - อุโมงค์ต้นไม้ 8 ก.ม. ช่วงอุโมงค์ต้นไม้เนินยาวมาก มีแต่ขาขึ้น มีขาลงให้ดีใจเล็กน้อย เดี๋ยวก็ขึ้นอีก ไม่ไหวก็ใช้เข็นเอา เวลาเราเหลือเฟือ มีกลุ่มจักรยานหลายกลุ่มมาทดสอบแรงที่นี่ ส่วนใหญ่จะเป็นเสือหมอบปั่นขึ้นกันฉิว ตรงไหนวิวสวยก็จอดพักถ่ายรูปก่อนได้ รถยนต์ไม่เยอะแต่เร็วพอสมควร ชิดซ้ายตลอด
10.30 น. อุโมงค์ต้นไม้ - น้ำตกเจ็ดสาวน้อย 12 ก.ม. พอเริ่มเห็นรีสอร์ทสวยๆแสดงว่าหมดเนินแล้ว เป็นทางลงล้วนๆ สบายเลย มีป้ายบอกให้เลี้ยวซ้ายไปน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
12.00 น. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย - สถานีรถไฟมวกเหล็ก 10 ก.ม. จนถึงน้ำตกเจ็ดสาวน้อย พักกินอะไรที่นี่ แช่น้ำสัก 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ให้เข็นจักรยานลงไปที่น้ำตกได้ แต่ระวังด้วย เพราะหนามเล็กๆเยอะ ยางรั่วมาแล้ว -_-' จากน้ำตกไปสถานีรถไฟมวกเหล็กปั่นไม่ถึงชั่วโมง ไม่ต้องรีบ
14.48 น. กลับด้วยรถเร็วขบวน 136 ออกจากมวกเหล็ก 14.48 ถึงหัวลำโพง 18.40 น. รถมาจะช้าประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ต้องเช็กก่อนว่าตู้สัมภาระเต็มมาตั้งแต่ต้นทางหรือเปล่า ถ้าเต็มเราก็เอาจักรยานขึ้นไม่ได้ ต้องรอเที่ยวถัดไป 17.11 น. (แต่ถ้าเป็นรถพับขึ้นได้เลย) ก็จะทำให้เราถึงหัวลำโพง 4 ทุ่ม (ใครจะลงที่ไหนลงได้ทุกสถานีที่รถไฟจอด)

สิ่งที่ต้องเตรียมไปด้วย
- ตรวจเช็คจักรยานให้พร้อม, ยางในสำรอง(จำเป็นอย่างยิ่ง ใครเข็นลงข้างทางไปถ่ายรูป โอกาสยางรั่วสูง), ที่งัดยาง, ชุดปะยาง, ไฟหน้า, ไฟท้าย (เผื่อปั่นเที่ยวจนมืด)
- หมวก, ผ้าบั๊ฟ, ปลอกแขนกันร้อน, เสื้อกันหนาว (บนเขื่อนกลางคืนหนาวใช้ได้)
- เต๊นท์(ไม่เอาไปก็ได้ มีให้เช่าที่เขื่อนป่าสัก), อุปกรณ์แคมปิ้งต่างๆ, แบตสำรองโทรศัพท์
- ชุดใส่นอน,ชุดใส่วันที่ 2,รองเท้าแตะ
- สบู่,ยาสีฟัน,แปรงสีฟัน
- เงิน(ค่ารถไฟคน+จักรยานไปกลับประมาณ 280 บาท,ค่าอาหาร,ค่ากางเต๊นท์)
- ไม่มีการเก็บเงินกองกลาง,ไม่มีรถเซอร์วิส,ไม่มีประกันอุบัติเหตุ

ติดต่อสอบถาม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานลพบุรี รับผิดชอบพื้นที่ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี โทร. 0-3677-0096 - 7

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตลาดคลองหกวา ไม่ได้มีแต่บ้านลำยอง

ช่วงนี้คงจะเห็นคนชวนปั่นไปบ้านลำยองกันบ่อย แล้วทริปวัดพืชอุดมก็คงเคยเห็นมีคนชวน ทริปร้านสู้แค่หมดนักปั่นต้องรู้จักแน่ๆ และก็ทริปปั่นไปกินสเต๊กจริงๆคลอง 11 แล้วรู้หรือไม่ว่าทั้งหมดนี้อยู่ในละแวกเดียวกัน?



บ้านลำยอง คือสถานที่ถ่ายทำละครเรื่องทองเนื้อเก้า เวอร์ชั่นนุ่น วรนุช ที่เพิ่งจบไป ฉากหลักๆถ่ายทำกันที่ตลาดคลองหกวา ตลาดโบราณที่ตายแล้ว ไม่ได้เป็นตลาดคึกคักเหมือนในอดีต ด้วยทำเลที่เป็นสี่แยกของคลองหกวาตัดกับคลอง 12 ในยุคที่ใช้เรือเป็นพาหนะหลัก ที่นี่จึงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ แต่พอรถยนต์กลายเป็นพระเอก ตลาดก็เริ่มย้ายออกไปตั้งริมถนน ริมคลองก็เหลือเพียงบ้านอยู่อาศัยแทน คงเหลือเพียงสถาปัตยกรรมเก่าๆโบราณๆสวยงามให้เราได้ชม



นกจากเรื่องทองเนื้อเก้าแล้วที่นี่ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำละครอีกหลายเรื่องเช่นสุภาพบุรุษจุฑาเทพ คือหัตถาครองพิภพ อีสา ...



เลยตลาดคลองหกวาไป เป็นที่ตั้งของวัดพืชอุดม วัดที่เป็น original ของการชมนรก-สวรรค์ 36 ภูมิ สมัยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว จะมีป้ายบอกทางไปชมนรกสวรรค์ที่วัดพืชอุดมติดอยู่ริมถนนทั่วประเทศตั้งแต่นราธิวาสยันเชียงรายเป็นพันป้ายเลยทีเดียว เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เมื่อก่อนจะเป็นโบสถ์ไม้ แต่โดนไฟไหม้ไป เพิ่งสร้างใหม่



ข้ามคลองหกวาไปฝั่งถนนลำลูกกาเป็นที่ตั้งของโบสถ์คริสต์ที่มีชื่อว่าวัดพระวิสุทธิวงส์ โบสถ์ในสายเดียวกับโบสถ์กาลหว่าที่บางรัก เป็นโบสถ์เก่าแก่ที่สวยงามทั้งภายนอกและภายใน



อีกที่ที่มีคนชอบปั่นไปคือสเต๊กจริงๆ ถนนเลียบคลอง 11 สเต๊กชิ้นใหญ่ ราคาเยาว์

ข้ามคลองหกวามาทางวัดทำเลทอง เข้าถนนคลองเก้า ปั่นผ่านศูนย์บริหารกิจกรรมอิสลาม ที่เขาจัดงานเมาลิดกันทุกปี ก็จะพบกับร้านดังสู้แค่หมด ร้านชาวบ้านธรรมดาที่ดังด้วยเมนูอาหารจานละ 10 บาท ขายของราคาถูก กำไรน้อย จนใช้หนี้หลายล้านได้หมด!



การปั่นมาบ้านลำยองก็แล้วแต่ว่าคุณจะปั่นมาจากฝั่งไหน ถ้ามาจากหนองจอก จากตลาดหนองจอกปั่นมาทางถนนเลียบคลอง 13 ถนนลาดยางใหม่ เรียบ ตรงยาว 12 ก.ม. วิวทุ่งนาริมน้ำน่าปั่นมาก ด้านซ้ายมือในซอยเดียวกับส.น.ประชาสำราญ มีวัดประยงค์ หลวงพ่อโต ครุฑตัวใหญ่ สวยมาก



ถ้ามาจากรังสิตก็มาทางถนนลำลูกกา ถนนใหญ่ไหล่ทางกว้างแต่รถใหญ่ก็เยอะปั่นมาเรื่อยๆจะเห็นป้ายวัดพืชอุดมด้านขวามือ ถ้ามาทางรามอินทราก็เข้ามาทางมีนบุรี เข้าถนนไมตรีจิต เข้าไปทางศูนย์กิจการอิสลาม แวะเข้าร้านสู้แค่หมดก่อนแล้วค่อยต่อมาบ้านลำยอง

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เอาจักรยานขึ้นรถไฟไปปั่นต่างจังหวัด

การขนจักรยานขึ้นรถไฟทำให้เราไปปั่นได้ไกลขึ้น ทำได้ไม่ยาก ไม่แพงด้วย ขั้นแรก อยากไปปั่นที่ไหน เช็คตารางเวลารถไฟที่ www.railway.co.th/checktime/checktime.asp ดูที่เป็นรถเร็ว จะมีตู้สัมภาระ ส่วนถ้าเส้นทางไหนไม่มีรถไฟที่มีตู้สัมภาระผ่านเลย สามารถยกจักรยานไปไว้ตู้เดียวกับผู้โดยสารเลย ดูว่าสถานีที่ใกล้ที่ที่เราจะไปคือสถานีอะไร ถ้าอยากปั่นเยอะๆก็เอาสถานีไกลๆหน่อย ดูใน Google Maps เอา

เลือกนั่งชั้น 3 เพราะอยู่ติดกับตู้สัมภาระ ค่าโดยสารก็ตามระยะทาง ค่าจักรยานต่างหาก ถ้าแค่ลพบุรี,สระบุรี ค่าโดยสาร 50 บาท ค่าจักรยาน 90 บาท (ถ้าไม่ได้ทำเรื่องโหลดจักรยานจะโดนเก็บบนรถไฟ 100 บาท) ถ้าเป็นรถไฟฟรีคนก็ขึ้นฟรี เสียแค่ค่าจักรยาน ถ้าเป็นจักรยานพับจะไม่ขนเข้าตู้สัมภาระก็ได้ ไม่ต้องเสียค่าระวาง เอาไปวางข้างเก้าอี้นั่ง หรือแถวก๊อกน้ำในตู้โดยสารได้เลย แต่อาจจะโดนเก็บค่าสัมภาระขนาดใหญ่ 10-20 บาท แล้วแต่สาย 

ถ้าเป็นรถไฟสายที่ไม่มีขบวนที่มีตู้สัมภาระผ่านเลย เขาก็ให้เราเอาขึ้นไปในตู้เดียวกับผู้โดยสารนั่นแหละ เสีย 100 บาท

การซื้อตั๋วก็ไปซื้อตั๋วที่ช่องซื้อตั๋วปกติ ถามเขาให้แน่ใจว่ามีตู้สัมภาระนะ แล้วเข็นจักรยานไปจุดรับสัมภาระ จ่ายตังเสร็จเข็นไปรอยกสัมภาระขึ้นรถไฟ กระเป๋าทัวริ่งที่ติดกับจักรยานปลดออกด้วย 1.เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สิน 2.เดี๋ยวจะยกไม่ไหว เจ้าหน้าที่ผูกให้อย่างดี ตั้งแต่ขึ้นมายังไม่มีอะไรเสียหาย มีแต่บางคันที่ไฟหน้าหล่นหายจากรถกระเทือน ทางที่ดีก็ปลดอุปกรณ์ที่หลุดง่ายเก็บไว้กับเรา

ขนเสร็จเราก็เดินไปนั่งตู้ติดกันถ้าที่นั่งว่าง ถ้าไม่ว่างก็ไปตู้ถัดไป ที่เป็นชั้น 3 เลือกนั่งได้หมด เพราะโดยปกติถ้าเราซื้อตั๋วระยะใกล้ 2-3 ชั่วโมงถึง เขาจะออกตั๋วไม่มีที่นั่งให้ คือเป็นตั๋วยืน ถ้าคนเต็มเราต้องยืน เราจะจองแบบมีที่นั่งเขาไม่ขายด้วยนะ รถไฟไทยสุดยอด ยิ่งถ้าช่วงหยุดยาว อย่าว่าแต่ที่นั่ง ที่ยืนก็ยังหาลำบาก

พอใกล้ถึงเราก็เดินไปรอใกล้ๆตู้สัมภาระ รู้ได้ไงว่าใกล้ถึง? ก็ตอนเช็กตารางเวลามันจะบอกอยู่ว่าขบวนนี้จอดสถานีไหนบ้าง print มาเก็บไว้ดูก็ได้ ลงปั๊บรีบวิ่งไปรอรับจักรยานเลย เจ้าหน้าที่เขาส่งจากบนรถให้ บางทีก็ส่งทางประตู บางทีก็ส่งทางหน้าต่าง ต้องรีบเพราะรถจอดแป๊บเดียว ปกติรถไฟก็เลทอยู่แล้ว อย่าให้คนอื่นเสียเวลาเพิ่มเพราะเราเลย

ความเสี่ยงคือขากลับ ถ้าตู้สัมภาระเต็มมาตั้งแต่สถานีก่อนหน้า เราก็อดขึ้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายสถานีอย่างเดียวว่าจะยอมให้เราเอาขึ้นตู้โดยสารได้หรือเปล่า ไม่งั้นต้องรอเที่ยวหน้าอย่างเดียว ยกเว้นรถพับ สบาย ไม่ต้องเข้าตู้สัมภาระ กลับได้ทุกขบวน ถ้าเป็นรถไฟเที่ยวสุดท้ายก็มองหาพาหนะอย่างอื่นเลย เช่นรถทัวร์ รถตู้ ถอดล้อขึ้นได้

เดี๋ยวนี้นายสถานีต่างๆจะรู้เรื่องการเอาจักรยานขึ้นรถไฟดี เพราะมีคนเอาขึ้นกันเยอะ ไม่ต้องกลัว มีอะไรก็ถามได้เลย เอาล่ะ เมื่อรู้ว่าการเอาจักรยานขึ้นรถไฟไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย เสาร์-อาทิตย์นี้ไปกันเลยไหม^^

ปล.การส่งเฉพาะจักรยานไปทางรุถไฟ แบบไม่มีคนไปด้วย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เหมือนกัน
ปล.2 กรุณาเกรงใจผู้โดยสารท่านอื่น หากจะเป็นต้องขนจักรยานเข้าตู้โดยสาร ควรทำตัวลีบๆที่สุด^^

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

ปั่นชมทุ่ง มุ่งบ้านลำยอง (35 ก.ม.)

ทริปนี้เราจะเริ่มจากสวนสาธารณะหนองจอก จะเอาจักรยานใส่รถมาแล้วมาจอดที่นี่ก็ได้ มีที่จอด มีรปภ. ถ้าที่จอดรถเต็มก็สามารถจอดในโรงพยาบาลฝั่งตรงข้าม หรือริมถนนด้านหน้าได้เลย

ระยะทาง 35 ก.ม. ปั่นเล่นๆ ชมวิว หยุดถ่ายรูปบ่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ยๆแค่ 10 กว่าๆ พาลูกพาหลานไปปั่นเล่นกันได้ ไม่อันตราย

จากสวนสาธารณะหนองจอก มุ่งหน้าตลาดหนองจอก วิ่งตัดผ่านตลาดหนองจอกไปออกถนนเลียบคลอง 13 ถนนลาดยางใหม่ เรียบ เป็นทางตรงยาวๆ รถน้อย ฝึกปั่นทางไกลกัน 12 ก.ม. แวะพักครึ่งทางที่วัดแสนเกษมก่อนก็ได้(มีที่ให้อาหารปลาหน้าวัด) 

แล้วไปต่อเกือบสุดทางจะเห็นป้ายเลี้ยวซ้ายเข้าวัดพืชอุดม(มีจุดให้อาหารปลาเหมือนกัน) 

พักเข้าไปชมนรกสักครู่ ออกจากวัดเลี้ยวขวาตรงไปเรื่อยๆจะไปสุดที่ชุมชนตลาดคลอง 12 เลย 

ปั่นเข้าไปบนทางปูนในชุมชนได้เลย แล้วก็จะเข้าไปย่างตลาดเก่าที่เป็นสถานที่ถ่ายทำละคร ถ่ายรูปกับบ้านลำยองตามอัธยาศัย เข็นจักรยานข้ามสะพานไม้ไปอีกฝั่ง มีร้านกาแฟโบราณที่นักปั่นชอบมานั่งกินกัน ทะลุตลาดโบราณไปอีกฝั่ง เลี้ยวขวาขึ้นสะพาน ลงสะพานปั๊บเลี้ยวซ้ายเลย จะเป็นถนนมุ่งตรงไปโบสถ์พระวิสุทธิวงศ์ เข้าไปชมด้านในได้ มีภาพวาดบนเพดานสวยดี 

กลับออกมาทางเดิม ข้ามสะพานแล้วเลี้ยวขวา(ตามแผนที่) 2-3 กิโลมีทางให้เลี้ยวซ้ายเขาเส้นที่เป็นเหมือนถนนในหมู่บ้านจัดสรรร้างๆ ทะลุข้างหลังเป็นถนนดินลูกรังไม่ถึงกิโล แล้วก็จะเป็นวิวหมู่บ้านชนบทริมทุ่งนา 

ก่อนกลับสวนสาธารณะ ถ้ายังไมมืดมากก็แวะไปดูสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยสักหน่อย

ถนนโดยรวมเป็นถนนลาดยาง 99% มีลูกรังช่วงสั้นๆ จักรยานทุกประเภทไปได้  

วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระสมุทรเจดีย์ - ป้อมพระจุล - วัดทองรำไพ (20 ก.ม.)

       ทริปง่ายๆใครๆก็ปั่นได้ 20 ก.ม. จากพระสมุทรเจดีย์ ไปดูเรือรบที่ป้อมพระจุลฯ ปั่นริมน้ำไปวัดทองรำไพ กับมากินข้าวหมกไก่โบราณ
 
       ถ้ามาจากวงเวียนใหญ่ให้มาทางถนนตากสินตรงมาเรื่อยๆสุดถนนตากสินจะต่อกับถนนสุขสวัสดิ์ตรงมาจนสุดทาง ปลายของถนนสุขสวัสดิ์จะเป็นพระสมุทรเจดีย์พอดี จอดรถที่นี่ได้มีวิวสวยๆริมน้ำให้ถ่ายรูปเยอะแยะ
       เสร็จแล้วก็ปั่นย้อนกลับไปเลี้ยวซ้ายตางไปป้อมพระจุลฯ ถนนลาดยางแต่ค่อนข้างขรุขระหน่อย ปั่นเลียบซ้ายไปเรื่อย รถไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ตรงอย่างเดียวก็จะสุดที่ทางเข้าป้อมพระจุลพอดี
 
       ป้อมพระจุลจอมเกล้าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยร.5 เพื่อป้องกันการรุกรานของอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เรือรบหลวงแม่กลอง ปลดระวางเมื่อปี 2539 เอามาตั้งบนบกให้คนเข้าไปเดินดูได้ คล้ายๆเรือหลวงจักรีนฤเบศรที่สัตหีบ ใกล้ๆกันยังมีอนุสาวรีย์ร.5 และด้านหน้ามีลานแสดงปืนแบบต่างๆของกองทัพเรือปั่นเข้าไปชมได้เลย

 
       ด้านหน้าใกล้ๆกันมีทางเดินศึกษาธรรมชาติไม่ยาวนัก ปั่นเข้าไปได้เช่นกัน
      ทางเข้าวัดทองรำไพอยู่ด้านหน้าทางเข้าป้อมพระจุล ตรงตีนสะพาน เป็นทางปูนแคบๆพอให้มอเตอร์ไซค์กับจักรยานผ่านได้ รถยนต์หมดสิทธิ์ชาวบ้านที่นี่จะนั่งเรือเป็นหลัก มีรั้วกันให้ปั่นแบบไม่เสียวนักบางช่วงจะเป็นสะพานไม้ให้วิบากเล็กๆ

แผนที่ประกอบการเดินทาง
(เนื่องจากแผนที่ google ไม่อัพเดท ไม่มีถนนไปยังวัดทองรำไพ จริงคือแยกจากจุด C ไปทางซ้ายมือ ไป-กลับประมาณ 5 กิโลเมตร)

วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปั่นตั้งแต่รังสิตไปจนติดบางปะอิน 50 ก.ม.

สำหรับมือใหม่ที่อยากลองปั่นไปเที่ยวต่างจังหวัด การปั่นออกจากบ้านไปถึงต่างจังหวัดอาจจะไกลเกินไป ลองใช้ Google Maps ให้เป็น จะรู้ระยะทางว่าจากไหนไปไหน ระยะทางกี่กิโล

ทริปนี้เราจะไปพระราชวังบางปะอิน ลองลากเส้นทางดูใน Google Maps จากบางปะอินมารังสิตแถวๆ Workpoint Studio ไป-กลับได้ระยะทาง 50 ก.ม.พอดี (แผนที่) ที่จริงมีทริปกลุ่มใหญ่มือใหม่ปั่น 100 โลจาก Workpoint ไปอยุธยาจัดโดยลุงโทและพี่ๆกลุ่ม Novice กันทุกเดือน แต่เนื่องจากเรามือใหม่กว่านั้น(หรือไม่มีเวลาทั้งวัน)เอาแค่ 50 ก.ม.พอ

ใครที่ปั่นจากบ้านไกลไป ก็เอาจักรยานใส่รถมาจอดที่ข้างๆ Workpoint หรือ จอดริมถนนฝั่งตรงข้าม workpoint ได้ตลอดแนว ปกติเสาร์-อาทิตย์มีนักปั่นใช้ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นออกทริปกันเยอะอยู่แล้ว ไม่อยากร้อนก็เริ่มกันเช้าๆ สัก 7-8 โมง เอาจักรยานลงจากรถตรวจเช็ก set up จักรยานเรียบร้อยก็ปั่นกันเลย

ปั่นตรงตามถนนเลียบคลองเปรมไปเรื่อยๆ จนสุดทางเข้าถนนใหญ่ เลี้ยวขวาข้ามสะพาน ตรงไปตามถนนใหญ่เรื่อยๆ ไปจนถึง 4 แยก ก็จะเป็นป้ายเลี้ยวซ้ายไปพระราชวังบางปะอินแล้ว ตรงไปเรื่อยๆ หัวโค้งจะเป็นร้านกุ้งแม่น้ำชื่อดัง ถ้าใครมาถึงตอนเกือบๆเที่ยงก็กินกันก่อนได้ ถ้ามาบ่ายแก่ๆเย็นๆกุ้งหมดแล้วแน่นอน

เลี้ยวขวา เลี้ยวซ้าย ไปจอดตรงที่จอดรถของวัง เขาไม่ให้เอาจักรยานเข้าไปในวัง(เนื่องจากกลัวจะไม่มีใครเช่ารถกอล์ฟของวัง^^) ต้องเตรียมที่ล็อคจักรยานไปเอง หาเสาล็อคเอาเอง ไม่มีที่จอดจักรยาน แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นข่าวจักรยานใครหาย
ค่าเข้าชมคนไทย 30 บาท ต้องสวมกางเกงขายาวเลยเข่าเท่านั้น ใครใส่สั้นก็มีกางเกงให้ยืมใส่ทับ ข้างในวังสวยมาก ใครไม่เคยมารับรองคุ้ม เดินเข้าไปถ่ายรูปเล่นให้ครอบทุกพระตำหนัก ไฮไลท์ที่สำคัญคือหอคอย เดือนเรื่อยๆใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
ออกจากวังก็ปั่นกลับทางเดิม เลี้ยวซ้ายผ่านร้านกุ้งแม่น้ำ ถึงสี่แยกเลี้ยวขวา ข้ามสะพานก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลียบคลองเปรมเส้นทางเดิม ถ้าไปเช้าๆกลับเที่ยงๆขาไปจะโต้ลมขากลับจะปั่นสบายกว่า(แล้วแต่ฤดูด้วยมั้ง)

ความเร็วที่เหมาะสำหรับมือใหม่คือ 20 ก.ม./ช.ม.(มือใหม่ที่คิดจะออกทริปไกลๆควรจะไปซื้อไมล์มาติดจักรยานซะ เอายี่ห้อ Cateye แบบมีสาย ทนดี อันละประมาณ 650 บาท) ปั่นสัก 10 ก.ม.พัก 15 นาที รวมเวลาเที่ยวและแวะกินข้าวด้วยก็จบทริปได้ในครึ่งวัน

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ท่าฉลอมกับมหาชัย จะคิดทำไมว่าไกล ขึ้นรถไฟไปดีกว่า

ไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ เป็นรถไฟฟรี มีรถออกเกือบจะทุก 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เที่ยวแรก 5.30 น. วันละ 8 รอบ จนถึงเที่ยวสุดท้ายประมาณ 20.00 น. ถ้ามาจาก BTS วงเวียนใหญ่ ก็ตรงไปถึงถึงแยก เลี้ยวขวามุ่งหน้าวงเวียนใหญ่ สถานีรถไฟจะอยู่ซ้ายมือ เดินเข้าไปจากถนนแค่ 10-20 เมตร ไปรับตั๋วได้เลย ส่วนจักรยาน เจ้าหน้าที่จะเดินเก็บค่าระวางสัมภาระขนาดใหญ่บนรถไฟ ถ้าเป็นแบบพับจะเสียเที่ยวละ 10 บาท ถ้าแบบไม่พับอาจจะโดน 100 บาท


รถไฟค่อยๆแล่นผ่านสถานีเล็กสถานีน้อย โคลงเคลงไปมา เพราะดูรางแล้ว แทบจะจมไปกับพื้น ผู้โดยการเป็นแรงงานพม่าก็เยอะ เพราะสมุทรสาครเป็นแหล่งทำงานของพวกเขา เราไปลงที่สุดสายสถานีมหาชัย ต่อไปไม่ได้แล้วเพราะมีแม่น้ำกั้น เขาไม่ได้สร้างทางรถไฟข้ามแม่น้ำ เราจึงต้องลงแล้วปั่นผ่านตลาดไปท่าเรือ ลงเรือแสนง่าย เพราะปกติมีมอเตอร์ไซค์ใช้ข้ามฟากกันเป็นประจำอยู่แล้ว (ค่าบริการประมาณ 6 บาท)

ท่าฉลอมเป็นเหมือนเกาะเล็กๆกลมๆ มีหอนาฬิกาเป็นศูนย์กลาง ปั่นวนเล่นให้ทั่วก็ไม่นาน ดูเงียบสงบดี มีเรือลำใหญ่ๆเป็นวิวให้ถ่ายรูป ปลาหมึกตากแห้งกลิ่นตลบอบอวล วัดช่องลมสวยดี โบสถ์คริสนักบุญอันนาในโรงเรียนอันนาลัยก็สวย ศาลเจ้าจีนก็เยอะ มีเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ในอุทยานพระโพธิสัตย์กวนอิม

ใครมีเวลาทั้งวันก็ปั่นต่อไปสถานีรถไฟบ้านแหลม ต้นสายของฝั่งนี้ที่ต่อจากสถานีมหาชัย
ขึ้นรถไฟจากบ้านแหลมไปแม่กลอง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กำหนดเส้นทางวงเวียนใหญ่-มหาชัย-บ้านแหลม-แม่กลอง เป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ ลวดลายที่วาดบนโบกี้รถไฟสวยดี นั่งไปจะผ่านตลาดร่มหุบ ซึ่งถ้าเราอยู่บนรถไฟก็ไม่ค่อยเห็นอะไรเท่าไหร่ เพราะจะชะโงกออกไปก็ไม่ได้ เดี๋ยวหัวกระแทกกับร้านค้า ต้องไปลงที่แม่กลองก่อน แล้วค่อยปั่นมาชมวิว รดรถไฟขบวนใหม่มา

สถานีแม่กลองก็เป็นสถานีสุดสายที่แม่น้ำ จากสถานีปั่นตรงไปเรื่อยๆจะเป็นแม่น้ำแม่กลอง ถ้าปั่นย้อนกลับก็เป็นตลาดร่มหุบ

ถ้ามีแรงเหลือสามารถปั่นต่อไปตลาดน้ำอัมพวาได้ ห่างจากสถานีแม่กลองแค่ 8 ก.ม. (แผนที่เส้นทาง) ถ้าแดดไม่ร้อนมากก็แวะไปได้ น่าจะกลับมาทันนั่งรถไฟกลับกรุงเทพ